แบงก์กรุงศรีลุยปั๊มสินเชื่อหมุนเวียน เจาะกลุ่มซับพลายเออร์-ดีลเลอร์ของบริษัทบิ๊ก
หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2555
นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)หรือBAYเปิดเผยถึงแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)ของธนาคารว่าจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปีที่ระดับ16%?ซึ่งจะทำให้พอร์ตสินเชื่อ SME ของธนาคารในสิ้นปี2555 ขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาทจากสิ้นปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 1.55 แสนล้านบาท
โดยในปีนี้ธนาคารพยายามจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อหมุนเวียนเป็นหลัก เนื่องจากสินเชื่อดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ในระดับสูงทั้งนี้ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อ SMEของธนาคารจะแบ่งเป็นสินเชื่อระยะยาวประมาณ 70% ขณะที่สินเชื่อหมุนเวียนจะมีเพียง 30% เท่านั้น
สำหรับในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ SME สามารถขยายตัวได้ดีกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ ซึ่งมาจากปัจจัยหลักทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่ขยายตัวได้ในระดับดี รวมถึงการลงทุนจากโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี2554 ที่ผ่านมา
นายสยามกล่าวว่าล่าสุด ธนาคารได้ทำการเปิดตัวสินเชื่อเพื่อการค้าขาย หรือ “กรุงศรี แวลูเชน โซลูชั่นส์” เพื่อให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นซับพลายเออร์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น โดยธนาคารได้ตั้งวงเงินไว้สำหรับการปล่อยสินเชื่อโครงการนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีลูกค้าขอใช้สินเชื่อจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสุทธิประมาณ 5,000 ล้านบาทภายในปีนี้
ขณะเดียวกันธนาคารจะมีการเซ็นสัญญา MOU กับผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 รายได้แก่ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)และบริษัทแอลจี อิเลคทรอนิกส์(ประเทศไทย)หลังจากนี้ธนาคารมีแผนจะเซ็นสัญญากับบริษัทขนาดใหญ่อีก 4-5 แห่งภายในปีนี้ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา
“ในแง่ความเสี่ยงของการปล่อยกู้จากการอนุมัติสินเชื่อ “กรุงศรี แวลูเชน โซลูชั่นส์” เราเชื่อว่าจะสามารถควบคุมเงินเข้าออกได้เพราะ เรารู้ว่าเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง เพราะเรามีประวัติการซื้อขายของลูกค้ากลุ่มนี้จากลูกค้ารายใหญ่ซึ่งต่างจากวงเงินกู้ทั่วๆไปที่ไม่รู้ว่าได้เงินไปแล้วไปทำอะไร รวมถึงการอนุมัติสินเชื่อระยะสั้นให้กับกลุ่มซับพลายเออร์และดีลเลอร์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจะมีเครือข่ายของกลุ่มดังกล่าวประมาณ 400-500 ราย โดยเราจะพิจารณาจากข้อมูลธุรกิจจากประวัติการค้ากับรายใหญ่ ทำให้เรารู้ทันทีว่าลูกค้ารายไหนที่ผ่านเกณฑ์ขอสินเชื่อได้” นายสยาม กล่าว
สำหรับวิธีการให้สินเชื่อจะเริ่มต้นจากการที่ธนาคารนำเสนอโครงการดังกล่าวต่อผู้ค้ารายใหญ่ (Sponser) เมื่อผู้ค้ารายใหญ่ตกลงเข้าร่วมโครงการแล้ว ธนาคารก็จะคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ซื้อและผู้ขายของผู้ค้ารายใหญ่ ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากนั้นก็จะนำเสนอโครงการต่อผู้ซื้อและผู้ขาย โดยธนาคารจะเชิญเข้าร่วมโครงการ เมื่อผ่านการอนุมัติซึ่งใช้เวลาเพียง 1-2 วัน ก็สามารถอนุมัติสินเชื่อกับผู้ซื้อและผู้ขายที่ตกลงร่วมโครงการได้ทันที
credit : http://www.ryt9.com/s/nnd/1439731
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น